การดูแลผู้ป่วยโรค Covid 19

การดูแลผู้ป่วยโรค Covid 19 มีผู้คนจำนวนมากที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยแสดงอาการเพียงเล็กน้อยและสามารถรักษาตัวให้หายได้ที่บ้าน แต่ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ไม่สามารถจำกัดการแพร่เชื้อสู่ผู้ที่อยู่ร่วมกันได้โดยง่าย บทความนี้จะนำเสนอวิธีปฏิบัติตัวหากคุณหรือสมาชิกในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วย

ผู้ที่ได้รับการยืนยันผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยนั้น ส่วนใหญ่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยผู้ป่วยจะต้องไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งอาจป่วยหนักหากได้รับเชื้อ ได้แก่ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาต่อไป

การดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19
ในขณะทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวผู้ดูแลจำเป็นต้องดูแลตนเองเป็นอย่างดีด้วย

ควรจำกัดจำนวนผู้ดูแลโดยมอบหมายหน้าที่ให้ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และไม่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19 ตัวอย่างเช่น ผู้ได้รับวัคซีนครบแล้ว มีอายุต่ำกว่า 60 ปีและไม่เป็นโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง

ผู้ดูแลควรช่วยเหลือผู้ป่วยในการปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ ที่ได้รับจากแพทย์ ให้ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์

หมั่นสังเกตอาการ
หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ให้พบแพทย์ทันที:

-หายใจติดขัด
-เจ็บหน้าอก
-มีอาการเพ้อ สับสน
-สูญเสียทักษะการพูดหรือการเคลื่อนไหว

อาการบางอย่างอาจขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ในกรณีของเด็กอ่อน หากเด็กไม่ยอมดูดนมแม่ หรือกรณีเด็กเล็กหากมีไข้สูง มีอาการเพ้อและสับสน ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือใบหน้าและริมฝีปากมีสีม่วงคล้ำ ถือเป็นสัญญาณที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

หมั่นสังเกตอาการของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวว่ามีอาการบ่งชี้ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือไม่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหล คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หายใจลำบาก ไอแห้ง หรืออาการเหนื่อย ในผู้ป่วยวัยเด็กอาจมีอาการที่แตกต่างออกไป ส่วนในวัยทารกอาจรวมถึงการให้นมได้ยากขึ้น หายใจเร็วและมีอาการซึม หากมีอาการดังกล่าว ขอให้เข้ารับการตรวจเชื้อทันที

ปฏิบัติตามคำแนะนำ
การปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญแม้ว่าทุกคนในครอบครัวจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม เนื่องจากไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และหากติดเชื้อคุณยังอาจเป็นพาหะที่ทำให้ผู้อื่นติดเชื้ออีกด้วย

ควรพูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

การเว้นระยะห่าง: หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหากไม่จำเป็น หากเป็นไปได้ผู้ติดเชื้อควรพักอยู่ในห้องแยก หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค

สวมหน้ากากอนามัย: ทุกคนควรสวมหน้ากากอนามัยที่พอดีกับใบหน้าเมื่ออยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วย (ผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากด้วย)

หมั่นล้างมือเป็นประจำ: ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสกับผู้ป่วยหรือข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย