อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ตับและตับอ่อน คือ อวัยวะที่หากเกิดความผิดปกติแล้วอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อร่างกายได้หลายอย่าง ตั้งแต่เกิดภาวะอักเสบเฉียบพลัน อักเสบเรื้อรัง เกิดก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ (ถุงน้ำ) หรือโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตับและตับอ่อนเกิดภาวะอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังเกิดอันตรายต่อร่างกายจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ อาทิ เกิดภาวะอักเสบชนิดรุนแรงจนตับวายเฉียบพลันหรือเกิดตับแข็งและเป็นมะเร็งตับ

นอกจากอันตรายที่เกิดต่อตับและตับอ่อนโดยตรงแล้วยังสามารถเกิดผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ไต ต่อมไร้ท่อ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติจนไม่สามารถห้ามเลือดได้เมื่อเกิดมีภาวะเลือดออก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

ปัญหาชวนปวดตับ
ส่วนใหญ่โรคที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตับเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ คือ

1) การดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับสูงกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณในการดื่ม หากดื่มในปริมาณสูงต่อเนื่องเพียง 2 สัปดาห์สามารถทำให้เกิดไขมันพอกตับ หรือดื่มต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีด้วยปริมาณตั้งแต่ 20 – 30 กรัมต่อวันในเพศหญิง หรือตั้งแต่ 40 – 50 กรัมต่อวันในเพศชาย ก่อให้เกิดภาวะตับแข็งได้

ผลร้ายของแอลกอฮอล์ที่มีต่อตับแตกต่างกันในแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณของการดื่มและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่างจะมีผลเสียต่อตับมากกว่าดื่มพร้อมอาหาร หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าแอลกอฮอล์เข้าไปกระตุ้น ทำให้เกิดกระบวนการเป็นพิษต่อตับจนกลายเป็นไขมันพอกตับ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับได้อย่างไร

เนื่องจากในกระบวนการย่อยจะมีกระบวนการที่เป็นขั้นตอน การดื่มที่ตับไม่สามารถย่อยสลายได้สมบูรณ์ ทำให้สารตกค้างในกระบวนการย่อยคั่งค้าง ซึ่งสารดังกล่าวนี้เป็นพิษทำลายเซลล์ตับ ขัดขวางการทำงานของตับ การสลายของไขมัน ทำให้ไขมันสะสมในเซลล์ตับเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่าภาวะไขมันพอกตับ แต่ถ้าหยุดดื่ม ตับก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะตับสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่หากยังดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปจนเซลล์ตับเกิดการอักเสบเรื้อรังจนซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ เกิดเนื้อเยื่อพังผืดหรือแผลเป็นในตับ กลายเป็นตับแข็ง ตับวาย พัฒนาเป็นมะเร็งตับในระยะท้ายของโรค

2) พันธุกรรม โรคทางพันธุกรรมบางอย่างส่งผลต่อการสร้างอวัยวะตับไม่สมบูรณ์หรือบกพร่องในการสร้างเอนไซม์ในตับ เกิดของเสียสะสมในเนื้อตับอย่างต่อเนื่องจนทำให้ตับเสื่อม ตับแข็ง และเกิดมะเร็งตับได้

3) โรคประจำตัว โรคเลือด โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี หากดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งส่งผลให้การดำเนินของโรคลุกลามอย่างรวดเร็วขึ้น จนเกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้เร็วขึ้น

4) การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง อาทิ อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราที่สร้างสารอัลฟาท็อกซิน หรืออาหารปิ้ง ๆ ย่าง ๆ เกิดความไหม้เกรียม อาหารที่มีส่วนผสมของดินปะสิว และอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ที่ทำจากปลาน้ำจืดในภาคอีสานส่งผลให้เกิดพยาธิใบไม้ในตับ ตับแข็ง และมะเร็งท่อน้ำดี

5) สูบบุหรี่

6) ทานยา สมุนไพร หรือสารเคมีบางชนิด อาทิ ทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลในปริมาณมากเกินขนาด อาจก่อให้เกิดสารพิษในตับ อีกกลุ่มคือยาสมุนไพรที่สกัดมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ทราบชนิดและปริมาณของตัวยาที่ผสมอยู่ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงยาสมุนไพรที่ไม่มีที่มาที่ไป อาจเป็นอันตรายถึงขั้นตับวายได้