โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ

โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ โรคลำไส้กลืนกัน เป็นภาวะที่ลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวเข้าไปในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า ทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ลำไส้ขาดเลือด ลำไส้ทะลุ ภาวะนี้พบได้บ่อยในเด็กอายุ 4 เดือนถึง 2 ปี พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

ส่วนสาเหตุนั้น ร้อยละ 90 ไม่พบสาเหตุที่แน่นอน แต่อาจพบว่าเกิดตามหลังภาวะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งทำให้ลำไส้บวมจึงบีบตัวไม่ปกติ ทำให้เกิดลำไส้กลืนกันตามมา หรือเด็กมีก้อนหรือติ่งเนื้อผิดปกติในลำไส้ ซึ่งสามารถเป็นจุดนำให้เกิดลำไส้กลืนกันได้

เราสามารถสังเกตว่าเด็กมีภาวะลำไส้กลืนกันได้จากอาการ

มักมีอาการเฉียบพลัน โดยเริ่มจากปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง โดยอาการมักเกิดเป็นพักๆ เป็นนาน 15-30 นาที แล้วอาการลดลง ตามมาด้วยท้องอืดและอาเจียน ช่วงแรกมักอาเจียนเป็นนมหรืออาหารที่กินไป แต่ระยะหลังจะมีสีเหลืองหรือเขียวของน้ำดีปนมาด้วย
เมื่อลำไส้กลืนกันมากขึ้น ร่วมกับเริ่มมีการขาดเลือดไปเลี้ยงที่ลำไส้ ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีคล้ำปนมูก ในระยะต่อมามักจะมีไข้และมีอาการซึมลง
การวินิจฉัยโรคลำไส้กลืนกัน

ตรวจร่างกาย อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ซึ่งมีลักษณะคล้ายไส้กรอก
การทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (abdominal ultrasound) ซึ่งสามารถตรวจพบก้อนลำไส้กลืนกัน
การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี (barium enema) ซึ่งนอกจากจะใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้ได้แล้ว ก็ยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคลำไส้กลืนกันด้วย
การรักษาโรคลำไส้กลืนกันมี 2 วิธี

การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี โดยใช้แรงดันจากการสวนสารทึบรังสีผ่านทางทวารหนัก เพื่อดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไปให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่ ถ้าการสวนลำไส้ใหญ่สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้สำเร็จ อัตราความสำเร็จของการรักษาจะสูงถึงร้อยละ 80 แต่ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดลำไส้กลืนกันซ้ำใน 24 ชั่วโมง ซึ่งพบได้ร้อยละ 10 หลังการสวนลำไส้ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1-2 วัน และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 2-3 วัน
การผ่าตัด ศัลยแพทย์จะใช้มือดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายออกจากกัน และสำรวจหาสาเหตุของลำไส้กลืนกัน เช่น ติ่งเนื้อ หรือก้อนผิดปกติในลำไส้ ถ้าพบมีการเน่าหรือมีการแตกทะลุของลำไส้ ก็จำเป็นต้องตัดลำไส้ส่วนนั้นออก และทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน
ผลการรักษาโรคลำไส้กลืนกันนี้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะถ้ารักษาก่อนที่จะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ขาดเลือดจนลำไส้ทะลุ ดังนั้นเมื่อใดที่ผู้ป่วยเด็กมีอาการดังที่กล่าวมา ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป