โรคไตเรื้อรังสามารถป้องกันได้

โรคไตเรื้อรังสามารถป้องกันได้ เพราะโรคไต “เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน” ในแต่ละปีผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงจากโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไตอักเสบ ไตขาดเลือด นิ่วในไต ภาวะโรคอ้วน เป็นต้น การป้องกันโรคไตจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โรคไตเรื้อรัง คือ การที่ไตมีภาวะการทำงานผิดปกติ หรือมีการทำงานของไตที่ลดลง โดยดูจากค่าอัตราการกรองของไตที่ผิดปกติในระยะเวลามากกว่า 3 เดือน ขึ้นไป ระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อไตทำงานเสื่อมลงจนหน่วยไตเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 ทำให้มีของเสียคั่งในกระแสเลือดและมีอาการต่างๆ ตามมา เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ขาบวมและกดบุ๋ม ความดันโลหิตสูง

อาการแบบนี้ เข้าข่าย “โรคไตเรื้อรัง”
เมื่อไตเสื่อม ไตก็ไม่สามารถขับของเสียได้ทำให้มีของเสียคั่งอยู่ในเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ซึม และหากไตขับน้ำได้น้อย น้ำก็จะคั่งในร่างกาย มีอาการบวม ตัวบวม ขาบวม ตาบวม และถ้าไตทำงานน้อยลง สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายจะเกิดความผิดปกติ อาจทำให้เกลือแร่บางชนิดสูงขึ้น เช่น โพแทสเซียม ซึ่งพบได้มากในผลไม้ เมื่อร่างกายไม่สามารถขับโพแทสเซียมได้ก็จะค้างในเลือด จนส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น

โรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะโดยใช้ระดับการทำงานของไตเป็นตัวแบ่ง ระยะแรกๆ การทำงานของไตจะปกติแล้วลดระดับลงเรื่อยๆ โดยจะไม่แสดงอาการจนถึงระยะที่ 4-5 ซึ่งโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 นั้น ได้ทำงานได้น้อยลง 15% ขณะที่ระยะที่ 1-3 จะไม่มีอาการแสดง และไม่ทราบหากไม่ตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งนี้ สัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้น มีดังนี้

-ปัสสาวะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ หรือสีเข้มกว่าปกติ ปัสสาวะมีฟองมาก
-ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ 3-4 ครั้งขึ้นไป
-ปัสสาวะแสบขัด กะปริบกะปรอย
-มีอาการปวดหลัง ปวดเอว อาจมีความผิดปกติบริเวณนิ่วในไต ไตอักเสบ
-ความดันโลหิตสูงขึ้น

รักษาอย่างไร เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง
แนวทางการรักษาจะเน้นที่การชะลอความเสื่อมของไตเป็นหลัก โดยจะรักษาโรคที่เป็นสาเหตุที่นำมาสู่โรคไตเรื้อรังให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับเหมาะสม ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด โดยต้องกินอาหารโปรตีนต่ำ low protein diet

ทั้งนี้ โรคไตเรื้อรังสามารถป้องกันได้ โดยการตรวจสุขภาพเพื่อหาโรคต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เกาต์ เพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือหากพบโรคก็ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังดูแลตนเองอย่างไร

-ผู้ป่วยโรคไตจะต้องจำกัดอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมมาก และจำกัดอาหารที่มีรสจัด รวมถึงรับประทานเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ นมในปริมาณที่น้อยลง
-หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือเล่นกีฬาที่หักโหมจนเกินไป
-รับประทานยาตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด