ตรวจอาการเบื้องต้น: บ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า/บีพีพีวี (Benign paroxysmal positional vertigo/BPPV*)

ตรวจอาการเบื้องต้น: บ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า/บีพีพีวี (Benign paroxysmal positional vertigo/BPPV*) ภาวะนี้หมายถึง อาการวิงเวียนแบบบ้านหมุนหรือสิ่งรอบตัวหมุนที่เกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ ร่วมกับอาการตากระตุก (nystagmus) และเกิดขึ้นฉับพลันขณะมีการเปลี่ยนท่าหรือเคลื่อนไหวศีรษะ ภาวะนี้จัดเป็นสาเหตุของอาการบ้านหมุน (vertigo) ที่พบได้บ่อยที่สุด จะพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และพบได้น้อยในคนอายุต่ำกว่า 35 ปี

*มีชื่อเรียกอื่น ได้แก่ “Benign positional vertigo”, “Positional vertigo”, “โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน”, “โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด”

สาเหตุ

เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหูชั้นในส่วนลาบิรินท์ (labyrinth) ที่ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวประกอบด้วยหลอดกึ่งวง 3 อัน (ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง) ซึ่งภายในมีของเหลวและเซลล์ประสาทบรรจุอยู่ หลอดกึ่งวงทั้ง 3 อันนี้มีช่องเชื่อมต่อกับกระเปาะที่เรียกว่า “ยูทริเคิล (utricle)” และ “แซกคูล (saccule)” ในคนปกติจะมีผลึกหินปูนเกาะอยู่ในยูทริเคิลและแซกคูล ทำหน้าที่ช่วยในการรับรู้ทิศทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย ถ้าหากมีผลึกหินปูนจำนวนมากหลุดออกมาจากส่วนนี้ เข้าไปลอยอยู่ในของเหลวภายในหลอดกึ่งวง ก็จะเกิดการรบกวนเซลล์ประสาทภายในหลอดกึ่งวง ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง

– ผลึกหินปูนดังกล่าวสามารถหลุดลอยเข้าไปในหลอดกึ่งวงได้ทุกอัน แต่จะเข้าไปในหลอดกึ่งวงด้านหลัง (posterior semicircular canal) เป็นส่วนใหญ่ ผลึกหินปูนที่ลอยอยู่ในหลอดกึ่งวง มีชื่อเรียกว่า “Canalith”

– สาเหตุของการเกิดภาวะนี้ในผู้ป่วยอายุมาก มักเกิดจากความเสื่อมของอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นใน ส่วนผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 50 ปี มักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเป็นผลที่เกิดตามหลังการผ่าตัดหู และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

– ภาวะนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ไมเกรน โรคเมเนียส์ หูชั้นกลางอักเสบ โรคทางสมอง เป็นต้น

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียน เห็นบ้านหมุนหรือสิ่งรอบตัวหมุนอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันทีขณะเปลี่ยนท่าหรือเคลื่อนไหวศีรษะในท่าที่เฉพาะบางท่าเท่านั้น ที่พบบ่อยคือ ท่าลุกขึ้นจากเตียงนอน หรือท่านอนพลิกตะแคงตัว บางรายก็อาจเป็นขณะล้มตัวลงนอน ก้มศีรษะ (ก้มหาของ กวาดบ้าน กราบพระ) หรือเงยศีรษะ (เงยมองขึ้นข้างบนหาของ สอยผลไม้ นอนบนเตียงทำฟัน นอนบนเตียงสระผม)

– อาการบ้านหมุนแต่ละครั้งจะเป็นอยู่ประมาณ 20-30 วินาที (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 นาที) และอาจกำเริบใหม่เมื่อเคลื่อนไหวศีรษะในท่านั้นอีก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวศีรษะในท่านั้น ก็จะรู้สึกสบายเป็นปกติ สามารถเดินไปมาได้และทำงานได้

– ขณะมีอาการบ้านหมุนผู้ป่วยมักมีอาการตากระตุกร่วมด้วย

– ในรายที่เป็นมาก แม้แต่การเคลื่อนไหวศีรษะเพียงเล็กน้อย ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการบ้านหมุน และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

– บางรายหลังจากหายเวียนศีรษะแล้ว ยังอาจมีอาการคลื่นไส้หรือรู้สึกโคลงเคลงนานหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง

– ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อ หูตึง หรือแว่วเสียงดังในหูร่วมด้วย (ถ้ามี มักเกิดจากโรคของหูชั้นในแบบอื่น ๆ)

– อาการของโรคนี้กำเริบเป็นครั้งคราว แต่ละครั้งอาจมีอาการอยู่นานหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ แล้วก็หายไปได้เอง พอเว้นได้ระยะหนึ่ง อาจเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นแรมเดือนแรมปี อาการก็อาจหวนกลับมาเป็นใหม่ได้อีก

ภาวะแทรกซ้อน

นอกจากความรู้สึกกลัวหรือทรมานขณะมีอาการบ้านหมุนกำเริบแล้ว โรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงใด ๆ ยกเว้นในผู้สูงอายุมาก ๆ หรือผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีโรคทางหูร่วมด้วย อาจเกิดการหกล้มกระดูกหักได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

การทดสอบดิกซ์ฮอลล์ไพก์ (Dix-Hallpike test) จะพบอาการตากระตุกร่วมกับอาการบ้านหมุน

ถ้าสงสัยเป็นโรคทางสมองหรือมีความผิดปกติทางหู แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจสมรรถภาพของการได้ยิน เป็นต้น

จัดให้ผู้ป่วยนั่งบนเตียงตรวจ แล้วให้ผู้ป่วยนอนหงายลงบนเตียงตามแนวยาวของเตียง ให้ศีรษะผู้ป่วยห้อยลงจากขอบเตียงโดยมีมือผู้ป่วยพยุงไว้ ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง (ทำมุม 30 องศากับขอบเตียง) ผู้ตรวจจับศีรษะผู้ป่วยหันไปข้างขวา 45 องศา สังเกตดูว่าผู้ป่วยเกิดอาการบ้านหมุนและมีอาการตากระตุกหรือไม่ ถ้าไม่พบให้จับศีรษะหันไปข้างซ้าย 45 องศา แล้วสังเกตดูอาการในทำนองเดียวกัน

การรักษาโดยแพทย์

1. ถ้าอาการไม่มาก เป็นวันละไม่กี่ครั้ง แต่ละครั้งมีอาการอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ (20-30 วินาที) และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงอาการที่เป็นและแนะนำให้รู้จักการดูแลตนเอง

ถ้ามีอาการวิงเวียน เห็นบ้านหมุน คลื่นไส้ หรือโคลงเคลงมาก แพทย์จะให้กินยาบรรเทาอาการ เช่น ไดเมนไฮดริเนต (ย 19.1) บีตาฮีสตีน (betahistine) เป็นต้น

บางกรณีแพทย์จะทำการรักษาด้วยท่าบริหารศีรษะที่เรียกว่า “Epley maneuver” (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Canalith repositioning maneuver”) ซึ่งเป็นการทำให้ผลึกหินปูนในหลอดกึ่งวง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดกึ่งวงด้านหลัง) ไหลกลับเข้าไปที่กระเปาะยูทริเคิล วิธีนี้ทำเพียงครั้งเดียว ช่วยให้อาการหายได้ทันทีถึงร้อยละ 80 รายที่ไม่หายอาจต้องทำซ้ำ

ในรายที่ทำวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล หรือทนต่อผลข้างเคียง (บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน) ไม่ได้ หรือมีข้อห้ามทำ แพทย์จะสอนให้ผู้ป่วยทำท่าบริหารที่เรียกว่า “Brandt-Daroff exercise” โดยให้ทำเองที่บ้านทุกวัน วันละ 3 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่จะทุเลาเมื่อทำไปได้ 10 วัน) ในรายที่กำเริบบ่อย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำท่าบริหารต่อเนื่องทุกวัน

2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการบ้านหมุนหรืออาเจียนมาก มีอาการหูอื้อ หูตึง หรือแว่วเสียงดังในหู เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก ตาเห็นภาพซ้อน หรือสงสัยมีความผิดปกติรุนแรงอื่น ๆ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ถ้าสงสัยโรคทางสมอง อาจต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถ้าสงสัยความผิดปกติทางหู อาจต้องตรวจสมรรถภาพของการได้ยิน (audiogram) ตรวจคลื่นไฟฟ้าเกี่ยวกับอาการตากระตุก (electronystagmography/ENG) ทดสอบบนเก้าอี้หมุน (rotatory chair test) เป็นต้น และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ผลการรักษา ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง มักทุเลาไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ การรักษาด้วยท่าบริหารศีรษะแบบ “Epley maneuver” มักช่วยให้โรคทุเลาไปได้เร็ว มีน้อยรายมากที่การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล และมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 1 ปี บางกรณีอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งได้ผลประมาณร้อยละ 90

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการวิงเวียน เห็นบ้านหมุน ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า (บีพีพีวี) ควรดูแลตนเอง ดังนี้

รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ขณะมีอาการกำเริบ ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนท่ามานั่งคอตรง ๆ หรือนอนหงายศีรษะตรงทันที
ป้องกันไม่ให้อาการกำเริบซ้ำโดยการนอนหนุนหมอนอย่างน้อย 2 ใบ อย่านอนตะแคงข้างที่มีอาการ เวลาลุกจากเตียงนอนให้ลุกอย่างช้า ๆ และนั่งอยู่ขอบเตียงสักครู่ก่อนจะยืนขึ้น อย่าก้มศีรษะต่ำหรือเงยมองขึ้นข้างบน หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ การสะบัดผมหรือสะบัดคอเร็ว ๆ รวมทั้งท่าอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ
หลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
ถ้าตื่นลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางดึก ควรเปิดไฟในห้องให้สว่าง
ถ้ามีอาการวิงเวียน หรือรู้สึกโคลงเคลงมาก เวลาเดินควรใช้ไม้เท้าช่วยป้องกันไม่ให้หกล้ม

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1 สัปดาห์
มีอาการบ้านหมุนต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมง ๆ อาเจียนมาก กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ
มีอาการปวดศีรษะมาก ปวดหู หูน้ำหนวกไหล หูอื้อ หูตึง หรือแว่วเสียงดังในหู เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก หรือตาเห็นภาพซ้อน
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล

ในช่วงที่มีอาการบ้านหมุนกำเริบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และระวังอย่าให้หกล้มได้รับบาดเจ็บ

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้แม้ว่าจะมีอาการบ้านหมุนรุนแรง จนผู้ป่วยบางคนรู้สึกตกใจกลัว และอาจเป็น ๆ หาย ๆ ได้บ่อยจนน่ารำคาญ แต่จัดเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยควรสังเกตว่าท่าใดที่ทำให้อาการกำเริบ แล้วหาทางหลีกเลี่ยงไม่ทำท่านั้น ก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

2. เนื่องจากโรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ จึงควรแยกออกจากอาการบ้านหมุนจากภาวะหลอดเลือดตีบในสมอง ซึ่งมักมีอาการติดต่อกันนาน ๆ และอาจมีอาการผิดปกติทางสมอง (เช่น ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง) ร่วมด้วย ส่วนอาการบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่ามักจะมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันขณะเปลี่ยนท่าเฉพาะบางท่า และเป็นอยู่เพียง 20-30 วินาที อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน โคลงเคลงร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติทางสมอง ส่วนใหญ่เมื่อหายจากอาการบ้านหมุนแล้ว ผู้ป่วยมักจะรู้สึกสบายดี อย่างไรก็ตาม ถ้าแยกแยะโรคไม่ได้ชัดเจน หรือผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (เช่น เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง) ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด

3. อาการบ้านหมุนมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งอาจมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน หากมีอาการมากและครั้งละนานหลายนาทีถึงเป็นชั่วโมง ๆ หรือมีอาการอาเจียนมาก หรือมีอาการหูตึงและมีเสียงดังในหู มักจะไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า/บีพีพีวี และควรรีบไปพบแพทย์ อาจเกิดจากโรคเมเนียส์ หูชั้นในอักเสบ หรือเนื้องอกประสาทหูได้