ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ

ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ โรคลมพิษ หรืออาการ ผื่นลมพิษ จะมีลักษณะจำเพาะคือ เป็นผื่นบวมนูน แดง มีขนาดไม่แน่นอน อาจคล้ายตุ่มยุงหรือมดกัด หรืออาจมีลักษณะคล้ายแผนที่ สามารถเกิดที่บริเวณผิวหนังส่วนใดของร่างกายก็ได้ บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณเนื้ออ่อน (ภาวะแองจิโออีดีมา) เช่น บริเวณหนังตา ริมฝีปาก เป็นต้น

โรคหรืออาการผื่นลมพิษ มักเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด อาการเด่นๆ คือ คัน และผื่นมักจะจางหายไปภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่เหลือร่องรอยภายหลังผื่นยุบ โดยผื่นมักจะเป็นๆ หายๆ และย้ายตำแหน่งไปเรื่อยๆ กรณีหากมีภาวะแองจิโออีดีมาร่วมด้วย รอยโรคมักบวมอยู่นานเกินกว่า 24 ชั่วโมง และมีอาการเจ็บร่วมด้วย

ชนิดของผื่นลมพิษ
โรคลมพิษหรือผื่นลมพิษ จะแบ่งตามระยะเวลาที่เกิดได้เป็น 2 ชนิด คือ

ลมพิษเฉียบพลัน (acute urticaria) โดยอาการผื่นลมพิษจะเกิดต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
ลมพิษเรื้อรัง (chronic urticaria) จะมีอาการผื่นลมพิษเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเกิดต่อเนื่องกันมากกว่า 6 สัปดาห์
ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ

อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
ยา โดยร่างกายปฏิกิริยาการแพ้ยาบางชนิด
การติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมีพยาธิ
ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์
อิทธิพลทางกายภาพ โดยผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผื่นลมพิษจากปฏิกริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น
แพ้สารที่สัมผัส ผื่นลมพิษเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังสัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น การแพ้ยา (Iatex) ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด เป็นต้น
ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้งหรือต่อต่อย
มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบอื่นๆ ของร่างกาย
ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง ผู้ป่วยลมพิษบางรายเกิดจากการมีภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น
ไม่ทราบสาเหตุซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยลมพิษเรื้อรัง แม้ว่าแพทย์จะได้พยายามตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดแล้ว แต่ก็ยังหาสาเหตุไม่พบ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มากพอที่จะอธิบายหาสาเหตุได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยลมพิษยังควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งหากพบสาเหตุที่ก่อให้เกิดลมพิษ และผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงหรือรักษาที่สาเหตุนั้นได้ ก็จะทำให้โรคลมพิษสงบลงหรือหายขาดได้

แนวทางการตรวจเพื่อหาสาเหตุของโรคลมพิษ

ซักประวัติ เช่น สิ่งกระตุ้นทางกายภาพ ยา อาหาร แมลงกัดต่อย และการติดเชื้อ
ตรวจร่างกายเพื่อประเมินความรุนแรงและหาสาเหตุของโรค
ตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือทำการตรวจเฉพาะ เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (skin prick testing, SPT) หรือการเจาะเลือดหาสารกระตุ้นอาการภูมิแพ้ (specific IgE) โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาส่งตรวจตามข้อบ่งชี้ที่พบจากการซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ
การรักษาโรคลมพิษ

พยายามหาสาเหตุและรักษาหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ ถ้าทำได้
ให้ยาต้านฮีสตามีน (ยาแก้แพ้) : การตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีนในผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยบางรายใช้ยาเพียงตัวเดียวก็ได้ผลดี แต่บางรายแพทย์อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาต้านฮีสตามีนในกลุ่มอื่น หรือใช้ยาหลายตัวร่วมกัน เพื่อควบคุมอาการ
ยาอื่นๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมาก และผื่นไม่ค่อยตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีน แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่นที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง และหลั่งสารสื่อกลางในผิวหนังที่เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษ
การพยากรณ์โรคลมพิษ

โรคลมพิษชนิดเฉียบพลันที่หาสาเหตุและแก้ไขได้ เมื่อรับประทานยาต้านฮีสตามีน ผื่นลมพิษมักหายได้ 1-2 สัปดาห์ มีผู้ป่วยบางรายที่หาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน อาจเป็นต่อเนื่องจนไม่สามารถหยุดยาแก้แพ้ได้ ซึ่งจะกลายเป็นลมพิษชนิดเรื้อรังในที่สุด
โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง : ในผู้ป่วยที่ได้สืบค้นจนทราบสาเหตุและแก้ไขสาเหตุได้ เมื่อรับประทานยาต้านฮีสตามีน ผื่นลมพิษมักหายได้เช่นเดียวกับกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน แต่ถ้าหาสาเหตุไม่พบหรือเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้โดยง่าย โรคมักเรื้อรัง และต้องมีการปรับยาเพื่อควบคุมโรคในระยะยาว โดยใช้เวลาประมาณ 2-5 ปี จึงจะสามารถหยุดยาได้ อย่างไรก็ตามผื่นลมพิษชนิดเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง