เราควรสื่อสารกับเด็กๆ อย่างไรหากสมาชิกติด Covid 19

เราควรสื่อสารกับเด็กๆ อย่างไรหากสมาชิกติด Covid 19 เมื่อมีบุคคลในครอบครัวล้มป่วยลงก็ถือเป็นเรื่องที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนไม่สบายใจ ทั้งนี้ เด็กในแต่ละวัยมีวิธีการรับมือเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป เด็กเล็กอาจยังไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถเจอหน้าผู้ปกครองหรือพี่น้องได้ ในขณะที่เด็กโต อาจเกิดความกังวลและรู้สึกเป็นทุกข์ เด็กบางคนอาจโทษตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ควรพูดคุยกับเด็กๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและตอบคำถามโดยใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัย เด็กๆ รับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ได้การสื่อสารจึงจำเป็นต้องทำด้วยความรอบคอบ

ควรเล่าให้เด็กๆ ฟังถึงเรื่องเชื้อไวรัส รวมถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องให้สมาชิกในครอบครัวที่ป่วยแยกตัวจนกว่าอาการจะดีขึ้น และวิธีที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค (โดยเฉพาะถ้ามีสมาชิกในครอบครัวจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง)

พยายามเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หาวิธีใช้เวลาร่วมกันโดยที่ยังรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัยของทุกคน เช่น วิดีโอคอลระหว่างทานอาหาร หรืออ่านหนังสือนิทานร่วมกันแม้ว่าจะอยู่ในห้องแยก นอกจากนี้ ยังสามารถทำกิจกรรมวาดภาพ เขียนจดหมาย หรือส่งเสริมให้เด็กๆ ได้รู้จักการแสดงความรู้สึกและทำกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้กำลังใจกับสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยได้อีกด้วย

ทำอย่างไรหากคุณล้มป่วย?
หากคุณรู้สึกป่วยหรือได้รับการยืนยันผลตรวจว่าเป็นโรคโควิด-19 แนะนำให้อยู่บ้าน ถ้าอาการแย่ลงหรือรู้สึกหายใจลำบาก ให้ติดต่อสถานพยาบาลทันที
หากคุณเป็นผู้ดูแลลูกเพียงคนเดียว ให้พิจารณาว่าใครเป็นผู้ที่สามารถดูแลลูกแทนได้ในกรณีที่คุณมีอาการหนัก ผู้ที่จะมาดูแลแทนไม่ควรเป็นผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่อาจป่วยหนักหากได้รับเชื้อโควิด-19

พักผ่อน ดื่มน้ำเยอะๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์

หากเป็นไปได้ พยายามอยู่ในห้องแยก หรืออยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดวามเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค ห้องที่พักอาศัยต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก แนะนำให้เปิดหน้าต่างไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่พอดีกับใบหน้า หลังใช้งานแล้ว ถอดหน้ากากอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวของหน้ากากที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค และทิ้งหน้ากากในถังขยะที่มีฝาปิดทันที

การทำความสะอาดและสุขอนามัย
เมื่อไอหรือจามให้ใช้ด้านในข้อศอกปิดปาก หรือใช้กระดาษทิชชู่ และทิ้งทันทีหลังการใช้งาน
ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ
แยกสำรับอาหาร อุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร เครื่องนอนและผ้าเช็ดตัว
หลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุและพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันกับผู้อื่น
หากเป็นไปได้ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องน้ำหลังการใช้งานทุกครั้ง

การกักตัว
ตรวจสอบข้อมูลกับโรงพยาบาลที่คุณเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับระยะเวลาที่ต้องกักตัวที่บ้าน องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้ป่วยแยกกักตัวเป็นเวลา 10 วันนับจากวันแรกที่แสดงอาการ และแยกกักตัวเพิ่มอีก 3 วันหลังจากไม่มีอาการแล้ว

การกักตัวอาจทำให้ไม่สบายใจ เป็นเรื่องปกติที่จะมีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น เช่น รู้สึกเครียด วิตกกังวล เศร้า กลัว และโกรธ การหากิจกรรมทำระหว่างวัน ดำเนินชีวิตตามกิจวัตรปกติ และพูดคุยกับคนที่คุณไว้วางใจทั้งทางโทรศัพท์หรือช่องทางออนไลน์จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตระหว่างการกักตัวได้อย่างราบรื่น

ข้อแนะนำในการให้นม
หากคุณยังอยู่ระหว่างการให้นม สามารถให้นมต่อไปได้ โดยปฏิบัติตามข้อควรระวังที่เหมาะสม ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อโควิด-19 ผ่านทางนมแม่และการให้นมแต่อย่างใด